วิทยาลัยการอาชีพปะเหลียน

ข้อมูลจังหวัดตรัง

ข้อมูลพื้นฐานจังหวัดตรัง

ประวัติความเป็นมาของจังหวัดตรัง :

จังหวัดตรังเป็นจังหวัดหัวเมืองอยู่ทางภาคใต้ของประเทศไทย ติดทะเลอันดามัน มหาสมุทรอินเดีย ชายฝั่งทะเลตะวันตกเป็นเมืองที่ตั้งขึ้นใหม่ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ จึงไม่ปรากฏว่ามีประวัติสมัยโบราณก่อนหน้านี้ และคาดว่าในสมัยแผ่นดินพระบรมไตรโลกนาถแห่งกรุงศรีอยุธยานั้น เมืองตรังยังไม่มีเพราะปรากฏในพระธรรมนูญ กล่าวถึงเมืองทางใต้เพียงนครศรีธรรมราช พัทลุง ไชยา ชุมพร เพชรบุรี กุยบุรี ปราณบุรี คลองวาฬ บางตะพาน ตะกั่วทุ่ง ตะกั่วป่า ตะนาวศรี มะริด ทวายและสามโคก ดังนั้นเมืองตรังแต่เดิมมาน่าจะเป็นเพียงเส้นทางผ่านไปมา ระหว่างนครศรีธรรมราชกับพัทลุงเท่านั้น ต่อมาเมื่อมีผู้คนตั้งถิ่นฐานอยู่มากขึ้นก็บังเกิดเป็นเมืองในภายหลัง

เท่าที่พบหลักฐานความเป็นมาของจังหวัดตรัง เริ่มแรกได้จากจารึกวัดเสมาเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช ที่ว่าเมืองตรังเดิมเป็นหัวเมืองขึ้นต่อเมืองนครศรีธรรมราช สมัยนั้นกล่าวกันว่านครศรีธรรมราชเจริญรุ่งเรืองมาก มีหัวเมืองต่าง ๆ อยู่ในความปกครองถึง 12 เมืองด้วยกัน เรียกว่า 12 นักษัตร สัญลักษณ์ของเมืองใช้ตราม้า (ปีมะเมีย) เป็นตราประจำเมือง และพอจะแบ่งวิวัฒนาการของจังหวัดตรังออกเป็น 3 สมัยด้วยกัน ดังนี้

1.สมัยตั้งเมืองที่ตำบลควนธานี (พ.ศ. 2345 – 2436) เมืองตรังเมื่อปี พ.ศ. 2345 เท่าที่ทราบจากหลักฐานทำเนียบเมืองนครศรีธรรมราชว่าครั้งสมัยรัชกาลที่ 2 (สมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย) ตั้งพระยาบริรักษ์ภูเบศร์ (น้อย) เป็นพระยานครศรีธรรมราชสืบแทนเจ้าพระยานคร (พัฒน์) และตั้งหลวงอุไภยธานีเป็นผู้พยาบาลเมืองตรัง หลวงอุไภยธานีเป็นบุตรเจ้าพระยานครฯ (น้อย)ในปี พ.ศ. 2345 ปรากฏจากทำเนียบกรมการเมืองตรังว่า หลวงอุไภยธานีได้เป็นพระอุไภยธานีโดยมีตำแหน่งเป็นผู้ว่าราชการเมืองตรังเป็นคนแรก และได้สร้างหลักเมืองตรังที่ควนธานี (ศาลหลักเมืองตรังที่ตำบลควนธานีอำเภอกันตังปัจจุบัน) ห่างจากตัวจังหวัดปัจจุบันไปทางทิศใต้ 8 กม.

2.สมัยตั้งเมืองที่กันตัง (พ.ศ. 2436 – 2458) พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เสด็จประพาสเมืองตรังเป็นครั้งแรก ทรงเห็นว่าเมืองตรัง (ที่ควนธานี) อยู่ในสภาพชำรุดทรุดโทรมมาก โจรผู้ร้ายชุกชุม ตรงกันข้ามกับที่ตำบลกันตัง(ที่ตั้งเมืองกันตังในปัจจุบัน) ปรากฏว่าได้กลายเป็นชุมชนใหญ่มีชาวจีนไปอยู่กันมาก ประกอบอาชีพโดยการทำสวนพริกไทยสามารถส่งไปขายถึงเกาะหมาก (ปีนัง) จึงทรงมีพระราชปรารภว่า “เมืองตรัง ถ้าจัดการทำนุบำรุงให้ดีจะเป็นเมืองที่มีประโยชน์มาก เพราะที่ดินอุดมสมบูรณ์ ควรแก่การเพาะปลูก” เจ้าเมืองตรังสมัยนั้นคือ พระยาบริรักษ์ภูเบศร์ทรงแต่งตั้งเป็นเจ้าเมืองนครศรีธรรมราช แล้วโปรดเกล้าฯ ให้พระยารัษฎานุประดิษฐ์มหิศรภักดี (คอซิมบี้ ณ ระนอง) ผู้ว่าราชการเมืองกระบุรี มาดำรงตำแหน่งในเจ้าเมืองตรัง พ.ศ. 2433 เมื่อพระยารัษฎานุประดิษฐ์ฯ ได้ดำรงตำแหน่งเจ้าเมืองตรังแล้วได้พิจารณาเห็นว่าที่ตั้งเมืองตรังที่ตำบลควนธานีนั้นอยู่ห่างจากฝั่งทะเลมาก ไม่เหมาะกับการขยายความเจริญของบ้านเมืองจึงได้กราบบังคมทูลขอย้ายที่ตั้งเมืองจากตำบลควนธานีไปตั้งที่ตำบลกันตัง ปี พ.ศ. 2436 ซึ่งได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราชานุญาตเมื่อย้ายตัวเมืองไปตั้งที่ตำบลกันตังแล้ว พระยารัษฎานุประดิษฐ์ฯ ก็ได้เริ่มดำเนินการพัฒนาสร้างความเจริญเอนกประการให้แก่เมืองตรัง เช่นสร้างสถานที่ราชการ ตัดถนนเชื่อมระหว่างอำเภอและจังหวัดใกล้เคียง โดยเฉพาะการตัดถนนเชื่อมระหว่างเมืองตรังกับพัทลุงซึ่งต้องตัดผ่านภูเขาและต้องประสบความยากลำบากแต่ก็ทำได้ดี (ปัจจุบันนี้ถนนระหว่างจังหวัดตรังกับจังหวัดพัทลุงได้ปรับปรุงใหม่ บริเวณที่เป็นเขาพับผ้าถูกทำลายไปหมดแล้ว) นอกจากนี้ยังได้จัดวางผังเมืองใหม่เปิดการค้ากับต่างประเทศ โดยสร้างท่าเรือขึ้นที่กันตังมีสะพานท่าเทียบเรือ ซึ่งสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัติวงศ์ประทานนามว่า “สะพานเจ้าฟ้า” พยายามนำแบบฉบับการปกครองของต่างประเทศทั้งฝรั่ง จีน และมลายู มาใช้ผสมกับของไทย ดำเนินการพัฒนาบ้านเมืองและเศรษฐกิจความเป็นอยู่ของประชาชน และที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งคือ ได้นำพันธุ์ยางพาราจากแหลมมลายูมาปลูกที่เมืองตรังเป็นแห่งแรกของประเทศได้แพร่หลายไปทั่วภาคใต้และภาคอื่น ๆ ของประเทศไทยในขณะนี้

3.สมัยตั้งเมืองที่ทับเที่ยง (พ.ศ. 2458 – ปัจจุบัน) ในปี พ.ศ. 2458 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เสด็จประพาสเมืองตรัง (ที่กันตัง)ขณะนั้นอยู่ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 1 ทรงมีพระราชดำริว่า การตั้งเมืองที่กันตังนั้นไม่ปลอดภัยจากอริราชศัตรู ประกอบกับอหิวาตกโรคกำลังระบาดกันตังเป็นที่ลุ่มมักเกิดโรคระบาดและยากแก่การขยายเมืองทรงเห็นว่าตำบลทับเที่ยง อำเภอบางรัก (อำเภอเมืองตรังในปัจจุบัน) มีลักษณะภูมิประเทศเหมาะสมที่จะตั้งเมือง จึงได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ย้ายเมืองจากตำบลกันตังไปตั้งที่ตำบลทับเที่ยง ซึ่งกลายเป็นที่ตั้งของจังหวัดตรังปัจจุบันตั้งแต่พ.ศ. 2458 มาจนถึงปัจจุบัน

4.ที่มาของคำว่า “ตรัง” คำว่า “ตรัง” มีความหมายสันนิษฐานได้ 2 ทาง คือ

4.1 มาจากคำว่า “ตรัง” ซึ่งตามศัพท์แปลว่า ลูกคลื่น เพราะลักษณะพื้นที่ของจังหวัดตรังเป็นเนินเล็ก ๆ สูง ๆ ต่ำ ๆ คล้ายลูกคลื่นอยู่ทั่วไป

4.2 มาจากคำว่า “ตรังเค” ซึ่งเป็นภาษามลายูแปลว่า “รุ่งอรุณ” หรือ “สว่างแล้ว” เพราะสมัยก่อนชาวมลายูและชาวมัชฌิมประเทศที่เดินทางมาโดยทางเรือมาค้าขายกับไทย เมื่อเรือแล่นมาตามลำน้ำตรังพอมาถึงอำเภอกันตังก็เป็นเวลารุ่งอรุณพอดี พวกที่มาโดยเรืออาจจะเปล่งเสียงออกมาว่า “ตรังเค” ดังกล่าวแล้ว แต่ที่มาของคำว่า “ตรัง” ทั้งสองประการนี้เป็นเพียงข้อสันนิษฐานเท่านั้นไม่มีหลักฐานใด ๆ ยืนยันได้

สภาพภูมิศาสตร์

1.ที่ตั้งและอาณาเขต จังหวัดตรังอยู่ทางภาคใต้ของประเทศไทย เป็นจังหวัดที่มีพื้นที่จังหวัดเลียบชายฝั่งทะเลตะวันตกของมหาสมุทรอินเดีย ยาวตลอดแนวเขตจังหวัดถึง 119 กม. ประมาณเส้นรุ้งที่ 7 องศา 31 ลิปดาเหนือ และเส้นแวงที่ 99 องศา38 ลิปดาตะวันออก อยู่ห่างจากกรุงเทพฯ ตามเส้นทางสายเพชรเกษม 828 กิโลเมตร มีเนื้อที่ทั้งสิ้น 4,941.439 ตารางกิโลเมตรหรือ 3,088,399.375 ไร่ มีอาณาเขตติดต่อด้านจังหวัดต่าง ๆ ดังนี้

ทิศเหนือ จดอำเภอทุ่งสง จังหวัดนครศรีธรรมราช และอำเภอคลองท่อม จังหวัดกระบี่

ทิศใต้ จดอำเภอทุ่งหว้า จังหวัดสตูล และทะเลอันดามันมหาสมุทรอินเดีย

ทิศตะวันออก จดอำเภอควนขนุน อำเภอกงหรา อำเภอตะโหมดจังหวัดพัทลุง (มีเทือกเขาบรรทัดกั้นอาณาเขต)

ทิศตะวันตก จดอำเภอคลองท่อม เกาะลันตา จังหวัดกระบี่และทะเลอันดามัน มหาสมุทรอินเดีย

2.ลักษณะภูมิประเทศ

สภาพพื้นที่ส่วนใหญ่โดยทั่วไปจะเป็นเนินสูง ๆ ต่ำ ๆ สลับด้วยภูเขาใหญ่เล็กกระจัดกระจายอยู่ทั่วไป พื้นที่ราบเรียบมีจำนวนน้อยซึ่งใช้เป็นแหล่งเพาะปลูกข้าวทางทิศตะวันออกมีเทือกเขาบรรทัดยาวจากตอนเหนือจดตอนใต้ และเป็นแนวเขตแบ่งจังหวัดตรังกับจังหวัดพัทลุง ลักษณะดินส่วนใหญ่เป็นดินร่วนปนทราย สภาพป่าเป็นป่าดิบชื้น มี ป่าชายเลนสำหรับท้องที่ที่อยู่ติดกับทะเล มีพื้นที่เป็นเกาะจำนวน 46 เกาะ อยู่ในพื้นที่อำเภอกันตัง 12 เกาะ อำเภอปะเหลียน 13 เกาะ และอำเภอสิเกา 21 เกาะ

3.ลักษณะภูมิอากาศ

ฤดูกาล แบ่งตามลักษณะอากาศของประเทศไทยออกเป็น 2 ฤดู คือ

ฤดูร้อน เริ่มตั้งแต่กลางเดือนกุมภาพันธ์ถึงกลางเดือนพฤษภาคม

ฤดูฝน เริ่มตั้งเดือนพฤษภาคมถึงเดือนกลางเดือนกุมภาพันธ์

ลักษณะอากาศทั่วไป จังหวัดตรังอยู่ภายใต้อิทธิพลของลมมรสุมที่พัดประจำเป็นฤดูกาล 2 ชนิด คือ

ลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ ช่วงกลางเดือนพฤษภาคมถึงกลางเดือนตุลาคม

ลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ ช่วงกลางเดือนตุลาคมถึงกลางเดือน พฤษภาคม

4.แหล่งน้ำธรรมชาติ จังหวัดตรังมีแม่น้ำลำคลองที่สำคัญอยู่ 2 สาย คือ

แม่น้ำตรัง มีต้นกำเนิดจากเทือกเขาบรรทัด ในเขตจังหวัดนครศรีธรรมราช จังหวัดพัทลุงและจากเทือกเขาเขตจังหวัดกระบี่มีความยาวประมาณ 123 กิโลเมตร มีลำน้ำสาขาที่สำคัญ 7 สายได้แก่ คลองชี คลองท่าประดู่ คลองกะปาง คลองมวน คลองยางยวน คลองลำภูรา และคลองนางน้อย แม่น้ำนี้ไหลผ่านท้องที่จังหวัดตรัง 5 อำเภอคือ อำเภอรัษฎา อำเภอห้วยยอด อำเภอวังวิเศษ อำเภอเมืองตรังและอำเภอกันตัง แล้วไหลลงทะเลอันดามัน มหาสมุทรอินเดียที่ปากน้ำกันตัง อำเภอกันตัง

แม่น้ำปะเหลียน มีต้นกำเนิดจากเทือกเขาบรรทัดในเขตจังหวัดพัทลุง และจังหวัดสตูล มีความยาวประมาณ58 กิโลเมตร มีลำน้ำสาขาที่สำคัญ 7 สาย ได้แก่ คลองปะเหลียน คลองลำแคลง คลองลำปลอก คลองห้วยด้วนคลองลำพิกุล คลองโพรงจระเข้ (คลองไหนุ้ย) และคลองลำชาน แม่น้ำนี้ไหลผ่านท้องที่จังหวัดตรัง 2 อำเภอ คือ อำเภอย่านตาขาวและอำเภอปะเหลียน แล้วไหลลงสู่ทะเลอันดามัน มหาสมุทรอินเดีย ที่ปากแม่น้ำปะเหลียน อำเภอปะเหลียน

5.ทรัพยากรธรรมชาติ ทรัพยากรที่สำคัญของจังหวัดตรังจำแนกตามประเภทต่าง ๆ ได้ดังนี้

สัตว์น้ำ จังหวัดตรังมีอาณาเขตติดต่อกับชายทะเล ด้านทะเลอันดามัน มหาสมุทรอินเดีย มีความยาวประมาณ 119 กิโลเมตร จึงอุดมไปด้วยสัตว์น้ำ นานาชนิด

แร่ แร่ธาตุที่สำคัญ ได้แก่ ดีบุก ถ่านหินและแร่แบไรท์

รังนก มีตามเกาะต่าง ๆ ในเขตอำเภอกันตัง อำเภอปะเหลียน และอำเภอสิเกา

6.การเมืองการปกครอง

การบริหารราชการ จังหวัดตรังแบ่งการบริหารราชการออกเป็น 3 รูปแบบ คือ

การบริหารราชการส่วนภูมิภาค

ระดับจังหวัด ประกอบด้วยส่วนราชการประจำจังหวัด จำนวน 28 หน่วยงาน

ระดับอำเภอ จังหวัดตรังมี 9 อำเภอ 1 กิ่งอำเภอ 87 ตำบล 721 หมู่บ้าน

การบริหารราชการส่วนกลาง ประกอบด้วย หน่วยงานสังกัดส่วนกลาง ซึ่งจัดตั้งสำนักงานอยู่ในพื้นที่ของจังหวัดตรัง รวมทั้งสิ้น 110 หน่วยงาน เป็นหน่วยงานสังกัดกระทรวง กรม ต่าง ๆ รวม 97 หน่วยงานและหน่วยงานอิสระ 13 หน่วยงาน

การบริหารราชการส่วนท้องถิ่น ประกอบด้วย

1.องค์การบริหารส่วนจังหวัดตรัง

2.เทศบาล มี 14 เทศบาล คือ

– เทศบาลนครตรัง

– เทศบาลเมืองกันตัง

– เทศบาลตำบลห้วยยอด (อ.ห้วยยอด)

– เทศบาลตำบลลำภูรา (อ.ห้วยยอด)

– เทศบาลตำบลนาวง (อ.ห้วยยอด)

– เทศบาลตำบลคลองเต็ง (อ.เมือง)

– เทศบาลตำบลท่าข้าม (อ.ปะเหลียน)

– เทศบาลตำบลทุ่งยาว (อ.ปะเหลียน)

– เทศบาลตำบลย่านตาขาว (อ.ย่านตาขาว)

– เทศบาลตำบลสิเกา (อ.สิเกา)

– เทศบาลตำบลควนกุน (อ.สิเกา)

– เทศบาลตำบลวังวิเศษ (อ.วังวิเศษ)

– เทศบาลตำบลนาโยงเหนือ (อ.นาโยง)

– เทศบาลตำบลคลองปาง (อ.รัษฎา)

3.องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) จำนวน 85 แห่ง

7.จำนวนประชากรจังหวัดตรัง

อำเภอ/กิ่งอำเภอระยะทาง (ก.ม.)พื้นที่(ตร.กม.)อบต.จำนวนตำบลเทศบาลจำนวนหมู่บ้านจำนวนบ้านราษฎรชายราษฎรหญิงรวมราษฎร
อำเภอเมือง548.6431415211949,15871,07777,159148,236
อำเภอกันตัง24612.675131418322,48141,64642,07083,716
อำเภอปะเหลียน44973.130101028617,00331,39432,09963,493
อำเภอย่านตาขาว22431.0578816716,40130,10631,19961,305
อำเภอสิเกา33523.983552409,90117,59217,59035,182
อำเภอห้วยยอด28753.3841616313326,23945,17945,77690,955
อำเภอวังวิเศษ60477.1255516811,40519,60219,79539,397
อำเภอนาโยง12165.0176615311,48520,78121,77042,551
อำเภอรัษฎา57232.425551508,29313,31413,50426,818
อำเภอหาดสำราญ59224.00033223,6068,0407,75715,797
รวม4,941.439858714721175,972298,731308,719607,450

หมายเหตุ ข้อมูลจากสำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง

8 ข้อมูลด้านเศรษฐกิจ

ทรัพยากรที่สำคัญ ทรัพยากรที่สำคัญของจังหวัดตรังจำแนกตามประเภท ต่าง ๆ ได้ดังนี้

ยางพารา เป็นพืชเศรษฐกิจที่ทำรายได้ให้แก่ประชาชนเป็นอย่างมาก ปลูกทั่วไปทุกอำเภอแต่ที่ปลูกมากที่สุด ได้แก่ อำเภอปะเหลียน

สัตว์น้ำ จังหวัดตรังมีอาณาเขตติดต่อกับชายฝั่งทะเลอันดามันมหาสมุทรอินเดีย ในเขตอำเภอสิเกา,กันตัง, ปะเหลียน, ย่านตาขาว และ กิ่ง อ.หาดสำราญมีความยาวประมาณ 119 กิโลเมตร จึงอุดมสมบูรณ์ ไปด้วยสัตว์ทะเลนานาชนิด

แร่ แร่ธาตุสำคัญ ได้แก่ แร่ดีบุก ฟลูออไรด์ ถ่านหินและแบไรท์มีมากที่อำเภอห้วยยอด

ปาล์มน้ำมัน ปลูกมากที่อำเภอสิเกาและอำเภอวังวิเศษ ซึ่งมีพื้นที่ติดต่อกับจังหวัดกระบี่

รังนก มีตามเกาะต่าง ๆ ในเขตอำเภอกันตัง อำเภอปะเหลียน อำเภอ สิเกา ซึ่งเอกชนได้รับสัมปทานเก็บในแต่ละปี

อาชีพที่สำคัญ อาชีพที่สำคัญที่ทำรายได้มาสู่จังหวัดตรัง ได้แก่

การกสิกรรม พืชที่ปลูกที่สำคัญ ได้แก่ ยางพารา ข้าว มะพร้าว ปาล์มน้ำมัน ทุเรียน มะม่วงหิมมะพานต์ สะตอ กาแฟ แตงโม ถั่วลิสง ผักต่าง ๆ

การประมง จังหวัดตรังมีอาณาเขตติดต่อกับฝั่งทะเลอันดามัน มหาสมุทรอินเดียถึง 4 อำเภอ 1 กิ่งอำเภอ ได้แก่ อำเภอปะเหลียน อำเภอย่านตาขาว อำเภอกันตัง อำเภอสิเกา และกิ่งอำเภอหาดสำราญ เป็นอาชีพและรายได้หลักที่สำคัญอย่างหนึ่งของจังหวัดตรัง

การอุตสาหกรรม ได้แก่ อุตสาหกรรมโรงงานแปรรูปผลิตผลทางการเกษตร เช่น โรงงานรมควันยาง สกัดน้ำมันปาล์ม ผลิตอาหารทะเลแช่แข็ง ผลิตอาหารทะเลกระป๋อง ผลิตปลาบดแช่แข็ง (ซูริมิ) ฯลฯ

การป่าไม้ ได้แก่ การเผาถ่านไม้

การพาณิชย์ ได้แก่ การค้าส่ง ค้าปลีก ค้ากับต่างประเทศ มีสินค้าจากผลิตผลทางการเกษตร เช่น ยางแผ่นรมควัน ยางแท่งทีทีอาร์ สัตว์น้ำทะเลและผลิตภัณฑ์จาก สัตว์น้ำทะเล ฯลฯ

9.ข้อมูลด้านสังคมจิตวิทยา ประชาชนในจังหวัดส่วนใหญ่เป็นคนเชื้อชาติไทย โดยมีคนไทยเชื้อสายจีน ประมาณ 30% ของประชาชนทั้งหมดอาศัยประกอบธุรกิจอยู่ในเขตตัวเมืองและย่านธุรกิจการค้าทั่ว ๆ ไป ส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธ รองลงมาคือ ศาสนาอิสลาม ซึ่งมีมากในท้องที่อำเภอปะเหลียน ย่านตาขาว กันตัง สิเกา ชาวไทยอิสลามเหล่านี้มีภาษาพูด เช่นเดียวกับประชาชนในเมืองคือ พูดภาษาไทยท้องถิ่นภาคใต้ อุปนิสัยใจคอของคนจังหวัดตรัง โดยทั่วไปมีจิตใจโอบอ้อมอารีเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ สามัคคีช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ร่วมมือต่อทางราชการเป็นอย่างดี

สภาพของศาสนา จริยธรรมและวัฒนธรรมของจังหวัดตรัง

1.ความเชื่อ ความศรัทธา ค่านิยม ในสถาบันทางศาสนา

1.1 จำนวนร้อยละของประชากรที่นับถือศาสนาต่าง ๆ

– ศาสนาพุทธ ร้อยละ 80.5

– ศาสนาอิสลาม ร้อยละ 18.0

– ศาสนาคริสต์ ร้อยละ 1.2

– อื่น ๆ ร้อยละ 0.3

ประชาชนชาวจังหวัดตรังมีศรัทธายึดมั่นในศาสนาพุทธ ยิ่งกว่าศาสนาอื่น เช่น ศาสนาคริสต์และอิสลาม ภายในจังหวัดตรังแต่ละอำเภอและตำบลจะมีวัดศาสนาพุทธ สำนักสงฆ์ อยู่เกือบทุกแห่ง ประชาชนชาวไทยส่วนใหญ่มีเชื้อสายมาจากชาวจีน ส่วนมากก็นับถือศาสนาพุทธควบคู่ไปกับการถือศีลกินเจ ตามฤดูกาลที่มีตามศาลเจ้าต่าง ๆ สรุปได้ว่า ประชาชนส่วนใหญ่มีความเชื่อศรัทธาและยึดมั่นในพระพุทธศาสนาอยู่เป็นอันมาก ส่วนศาสนาอื่นมีอยู่บ้างเพียงส่วนน้อยและคล้อยตามประเพณีของชาวจีนไปบ้าง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนในตัวเมือง ถึงแม้ว่าจะมีการนับถือศาสนาหลายศาสนา แต่ก็ไม่ก่อให้เกิดความขัดแย้งแต่อย่างใด ต่างก็ให้การช่วยเหลือเกื้อกูลซึ่งกันและกันเป็นอย่างดี

2.ความเชื่อ ศรัทธา ค่านิยม ในจริยธรรม ขนบธรรมเนียม ประชาชนส่วนมากในจังหวัดตรังมีเชื้อสายไทยผสมจีนจริยธรรมและขนบธรรมเนียมประเพณีจึงมีลักษณะผสมผสานระหว่างไทย-จีนในด้านจริยธรรม คนตรังส่วนใหญ่จะเป็นคนโอบอ้อมอารี ตรงไปตรงมา พูดจา เปิดเผย เรียกได้ว่าเสียงดังฟังชัด เป็นเอกลักษณ์

3.ความเชื่อ ศรัทธา ค่านิยม ในวัฒนธรรมทั่วไปของชาวพื้นเมือง ชาวตรังปฏิบัติตามครรลองของวัฒนธรรมไทยและวัฒนธรรมอันดีงามของท้องถิ่น ส่วนใหญ่ตามวัฒนธรรมของ พุทธศาสนา ซึ่งสืบเนื่องมาจากอินเดียและลังกาเชื่อมโยงกับจังหวัดนครศรีธรรมราช จังหวัดตรังเป็นเมืองหน้าด่านของจังหวัดนครศรีธรรมราชฝั่งตะวันตกในฐานะที่จังหวัดนครศรีธรรมราชเป็นเมืองแม่เป็นเมืองเอก วัฒนธรรมของตรังจึงเป็นแบบเดียวกับจังหวัดนครศรีธรรมราชและจังหวัดใกล้เคียง เช่น วันตรุษ วันสารท พิธีทางศาสนา เป็นต้น

3.1 ด้านศิลปวัฒนธรรม จังหวัดตรังมีศิลปที่เป็นเอกลักษณ์ของตนเอง ทั้งในด้านศิลปการแสดงและหัตถกรรมศิลปการแสดง เช่น มโนราห์ หนังตะลุง ลิเกป่า ศิลปหัถตกรรม เช่น การประดิษฐ์เสื่อเตย มีดพร้า (นาป้อ) ผ้าทอพื้นเมือง(นาหมื่นศรี) และเสวียนหม้อจากก้านจาก เป็นต้น

3.2 ด้านวัฒนธรรมประเพณี เป็นการผสมผสานระหว่างประเพณีวัฒนธรรมไทยกับจีน ทั้งนี้เนื่องจากประชาชนในเขตเมืองส่วนใหญ่มีเชื้อสายไทยผสมจีน ส่วนผู้ที่นับถือศาสนาอิสลามก็ยังคงยึดถือประเพณีวัฒนธรรมทางศาสนา แต่ไม่เคร่งครัดเหมือน 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ประเพณีของชาวตรังที่แตกต่างจากที่อื่นอย่างชัดเจน ได้แก่

– ประเพณีแต่งงาน จะจัดงานใหญ่พิมพ์บัตรเชิญแขกไปร่วมเป็นเกียรติและร่วมรับประทานอาหาร จัดขบวนแห่ของคณะเจ้าบ่าวโดยรถยนต์ มีผ้าสีแดงผูกที่หน้ารถทุกคัน โดย เจ้าภาพเป็นผู้มอบให้พร้อมกับติดผ้าแดงไว้ที่ประตูบ้านเจ้าภาพด้วย สำหรับแขกที่รับเชิญไปร่วมขบวนแห่หรือรับประทานอาหาร ขึ้นอยู่กับความมีชื่อเสียงของเจ้าภาพ การแต่งกายของแขกไม่ค่อยพิถีพิถัน แต่งกายตามสบาย เมื่ออาหารชนิดสุดท้ายขึ้นโต๊ะ หลังจากรับประทานเสร็จ แขกก็จะกลับหมดให้เจ้าภาพมีเวลาจัดเก็บทำความสะอาดสถานที่ต่อไป

– ประเพณีงานศพ เมื่อสมาชิกในครอบครัวถึงแก่กรรม จะไม่ออกบัตรเชิญแต่จะพิมพ์แผ่นประกาศขนาดใหญ่โดยระบุชื่อผู้ตาย สาเหตุการตาย สถานที่ตั้งศพ วันจัดงาน วันฌาปนกิจ และรายชื่อเจ้าภาพพร้อมด้วยญาติทุกคนไปปิดไว้ในที่ชุมชนเช่น ร้านอาหาร หน้าบ้าน ร้านค้าทั่วไป และจะส่งไปประกาศทางสถานีวิทยุท้องถิ่น บางรายตั้งศพที่วัดหรือมูลนิธิกุศลสถานเพื่อความสะดวกของแขกที่ไปและความพร้อมของเครื่องใช้ไม้สอย ในงานจะมีญาติพี่น้องเพื่อนฝูงไปร่วมงานคับคั่ง แขกที่ไปในงานทุกคนจะได้รับบัตรขอบคุณ ในบัตรระบุ วันที่ เวลา สถานที่เผาหรือฝังศพไว้ ในวันเคลื่อนศพออกจากบ้านหรือวัดไปเผาหรือฝัง เจ้าภาพจะเลี้ยงอาหารแบบโต๊ะจีนจำนวนมาก การเคลื่อนศพออกจากบ้านก็จะจัดขบวนรถยนต์ยาวเหยียด มีผ้าสีขาวผูกหน้ารถทุกคัน เมื่อถึงปลายทางแล้วรถทุกคันจะได้รับซองมีเงินอยู่ข้างในเป็นสินน้ำใจจากเจ้าภาพ

– ประเพณีกินเจ ประเพณีกินเจจะจัดขึ้นในวันขึ้น 1 ค่ำ ถึงวันขึ้น 9 ค่ำ เดือน 9 ของจีน โดยจัดปีละครั้งในงานมีฝ่ายพิธีการจัดโต๊ะบูชา ฝ่ายอัญเชิญสิ่งศักดิ์สิทธิ์และฝ่ายอ่านบท สวดมนต์ร่วมกันประกอบพิธีกินเจ และเชิญชวนผู้ศรัทธามาร่วมกันกินเจก่อนถึงวันกำหนด เพื่อให้ร่างกายบริสุทธิ์และอัญเชิญสิ่งศักดิ์สิทธิ์โดยเฉพาะพระอิศวรผู้เป็นใหญ่และพระจากดาวนพเคราะห์ทั้ง 9 ให้มาเป็นพยานในการประกอบพิธีกินเจครั้งนี้ ส่วนเจ้าอื่น ๆ ที่อัญเชิญมามีทั้งพุทธ พราหมณ์และเต๋าเพื่อให้เกิดศรัทธาในการรักษาศีลแนวการปฏิบัติถึงความบริสุทธิ์ทั้งร่างกายและจิตใจ โดยนุ่งขาวห่มขาว ถืออุโบสถศีลยกเว้นข้อ 6 ไม่กินอาหารในยามวิกาลมาเป็นกินอาหารเจตลอด 9 วัน มีการทำวัตรเช้า-เย็น โดยถือปฏิบัติตามพุทธศาสนาคือรักษาศีล ทำสมาธิและเกิดปัญญาจะมีอยู่วันหนึ่งในช่วงจัดงาน เจ้าจะเข้าทรงร่างทรง แสดงอิทธิฤทธิ์โดยใช้วัตถุต่าง ๆ ทิ่มแทงตามร่างกายพร้อมทั้งจัดขบวนแห่แหนไปตามสถานที่ต่าง ๆ ทั่วทั้งจังหวัด เพื่อให้ลูกหลานที่นับถือได้สักการบูชา

10.การท่องเที่ยวจังหวัดตรัง

จุดมุ่งหมายในอนาคตของคนเมืองตรัง ก็คือมุ่งหวังให้จังหวัดตรังเป็นเมืองการ ท่องเที่ยว โดยอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และรักษาประเพณีวัฒนธรรม ซึ่งได้มี การปรับปรุงทั้งทางด้านภูมิศาสตร์ธรรมชาติ สถานที่ท่องเที่ยววัฒนธรรมท้องถิ่นเสริมสร้างความ ปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของนักท่องเที่ยว ตลอดจนการพัฒนาบุคลากรที่คอยให้บริการการประชาสัมพันธ์ด้านการท่องเที่ยว ให้มีความพร้อมสูงสุดทุกเมื่อ โดยมีกิจกรรมต่าง ๆ เช่น งานพิธีวิวาห์ใต้สมุทร การจัดงานเฉลิมพระชนมพรรษาฯ งานเทศการอนุรักษ์หอยตะเภา งานเทศกาล ขนมเค้ก และเทศกาลถือศีลกินเจ เป็นต้น

สถานที่ท่องเที่ยวและพักผ่อนหย่อนใจ

จังหวัดตรังมีสถานที่พักผ่อนหย่อนใจและสถานที่ท่องเที่ยวที่สวยงามหลายแห่ง

1.อนุสาวรีย์พระยารัษฎานุประดิษฐ์ มหิศรภักดี (คอซิมบี้ ณ ระนอง) อยู่ในบริเวณสวนสาธารณะเขตเทศบาลนครตรังห่างจากศาลากลางจังหวัดประมาณ 1 กม. มีบริเวณกว้างขวาง เต็มไปด้วยพันธุ์ไม้ดอกและไม้ใบต่าง ๆ นับเป็นสวนสาธารณะที่สวยงาม เป็นแหล่งออกกำลังกายและพักผ่อนของประชาชน ซึ่งทางราชการได้ร่วมมือกับประชาชนชาวจังหวัดตรังสร้างขึ้นเพื่อเป็นอนุสรณ์สำหรับพระยารัษฎานุประดิษฐ์ฯ ผู้พัฒนาเมืองตรังให้เจริญรุ่งเรือง ขณะนี้เทศบาลนครตรังเป็นผู้ดูแล

2.สระกระพังสุรินทร์ อยู่ในเขตเทศบาลนครตรังห่างจากศาลากลางจังหวัด ประมาณ 2 กิโลเมตร เป็นหนองน้ำธรรมชาติกว้างใหญ่ เนื้อที่ประมาณ 50 ไร่ มีน้ำขังอยู่ตลอดปี เฉพาะฤดูน้ำหลากมีน้ำเต็มสระ แลดูสวยงามมากกลางสระมีศาลาพักร้อนมีสะพานเชื่อมติดต่อ ถึงกัน 3 หลัง มีถนนรอบบริเวณสระ ได้จัดทำเป็นสวนสาธารณะ สวนสัตว์เหมาะสำหรับประชาชนไปพักผ่อนหย่อนใจ เทศบาลนครตรังได้บูรณะเสริมสร้างให้สวยงามอยู่เสมอ

3.ทะเลสองห้อง อยู่ในท้องที่ตำบลบางดี อำเภอห้วยยอด ห่างจากตัวอำเภอ ประมาณ 27 กิโลเมตร มีสภาพเป็นแอ่งน้ำธรรมชาติกว้างใหญ่คล้ายทะเลสาบ มีเนินเขาล้อมรอบ ตอนกลางมีเนินเขายื่นออกมาเกือบจะติดต่อกันแบ่งแอ่งน้ำออกเป็น 2 ตอน เรียกว่า “ทะเลสองห้อง” มีทิวทัศน์สวยงาม น้ำใสสะอาด มีปลาน้ำจืดชุกชุม และปัจจุบันกำลังสร้างเป็นค่ายลูกเสือแห่งชาติขึ้นในบริเวณทะเลสองห้องด้วย

4.เขาปินะ อยู่ในท้องที่ตำบลนาวง อำเภอห้วยยอด เป็นภูเขาตั้งอยู่โดดเดี่ยวกลางทุ่งนา อยู่ในบริเวณวัดเขาปินะมีถ้ำธรรมชาติเหมาะสำหรับพักผ่อนหย่อนใจและมีทิวทัศน์สวยงาม ทางขึ้นภูเขาได้ดัดแปลงเป็นบันไดคอนกรีตไปยังถ้ำแยกเป็น 3 ทางมีพระพุทธรูปปางไสยาสน์อยู่ด้านทางเข้าถ้ำ

5.ถ้ำเขาช้างหาย เป็นถ้ำธรรมชาติ ภายในเต็มไปด้วยหินงอกหินย้อยรูปแบบต่าง ๆ ที่สวยงามมาก สลับซับซ้อนด้วยซอกหลืบกว้างแคบมากมาย สวยงามและยังคงความเป็น ถ้ำที่ลักษณะเป็นธรรมชาติทุกประการ อยู่ห่างจากตลาดอำเภอนาโยง ประมาณ 5 กม.

6.น้ำตกโตนเต๊ะ เป็นน้ำตกที่สวยงามอีกแห่งหนึ่ง มีน้ำไหลผ่านตามซอกหินตลอดสาย อากาศเยือกเย็น บริเวณประกอบด้วยไม้เบญจพรรณนานาชนิด ถนนลาดยางตลอดถึงน้ำตก อยู่ที่ตำบลปะเหลียน อำเภอปะเหลียน ห่างจากตัวจังหวัดประมาณ 45 กม.

7.น้ำตกสายรุ้ง เป็นน้ำตกจากหน้าผาสูง เมื่อละอองน้ำกระทบกับแสงแดดเกิดเป็นสายรุ้งสวยงามมาก สภาพยังคงความเป็นธรรมชาติทุกประการ การคมนาคมไปสู่น้ำตกสะดวก อยู่ห่างจากอำเภอนาโยง ประมาณ 25 กม.

8.น้ำตกกะช่อง อยู่ในบริเวณวนอุทยานเขาช่องริมถนนตรัง – พัทลุง อยู่ห่างจากอำเภอนาโยง ประมาณ9 กิโลเมตรมีน้ำตกจากภูเขาสูงไหลลงมาตามหน้าผา ซอกหิน ผ่านพันธุ์ไม้ป่านานาชนิดอันร่มรื่นสวยงามมากภายในบริเวณมีสวนสัตว์มีสัตว์นานาชนิดให้ชมเส้นทางสู่น้ำตกเป็นถนนลาดยางตลอด ประชาชนนิยมไปเที่ยวและพักผ่อนเป็นจำนวนมากทุกวัน

9.น้ำตกอ่างทอง อยู่ติดกับถนนสายตรัง-สิเกา ลักษณะเป็นน้ำไหลจากเขาอ่างทองทางทิศใต้ ลัดเลาะผ่านตามแอ่งหินมาสิ้นสุดที่หน้าผาและตกสู่อ่างเบื้องล่าง มีความสูงประมาณ 10 เมตร มีเสียงน้ำตกดังตลอดวัน ตลอดคืน สมัยก่อนถือว่ามีอาถรรพ์ศักดิ์สิทธิ์อยู่หมู่ที่ 1 ต.ไม้ฝาด ห่างจากตัวจังหวัดประมาณ 21 กิโลเมตร

10.น้ำตกร้อยชั้นพันวัง เป็นน้ำตกที่มีความงดงามมาก ขณะนี้อยู่ในระหว่างกำลังพัฒนาเส้นทางคมนาคม และบริเวณน้ำตกเพื่อความสะดวกสบายของผู้ไปท่องเที่ยว ซึ่งเวลานี้มีประชาชนไปพักผ่อนที่น้ำตกเป็นจำนวนมาก

11.น้ำตกปากแจ่ม ตั้งอยู่หมู่ที่ 3 ตำบลปากแจ่ม เป็นน้ำตกที่มีความสวยงามมาก มีน้ำไหลตลอดปี มีป่าไม้เบญจพรรณร่มรื่นสวยงามสภาพหน้าผาสูงแบ่งเป็น 3 ชั้น ชาวบ้าน เรียกว่า “น้ำตกไอ้เล” อยู่ห่างจากถนนสายบ้านโพธิ์ – ห้วยยอด ประมาณ 3 กิโลเมตร

12.ถ้ำทะเล ตั้งอยู่หมู่ที่ 1,10 ตำบลเขากอบ อำเภอห้วยยอด ห่างจากที่ว่าการอำเภอไปทางทิศตะวันตกประมาณ 6 กิโลเมตรห่างจากถนนเพชรเกษมประมาณ 700 เมตรมีถ้ำคดเคี้ยววกวนยาวประมาณ 4 กิโลเมตรความกว้างของถ้ำ รวมทั้งหมดประมาณ 200 ไร่ในจำนวนนี้ประมาณครึ่งหนึ่ง (100 ไร่) มีน้ำขังเกือบตลอดปี สามารถล่องเรือชมภายในถ้ำซึ่งเต็มไปด้วยหินงอกหินย้อยรูปแบบต่าง ๆอันสวยงาม มีถ้ำเป็นห้องโถงใหญ่เล็กซับซ้อนด้วยซอกหลืบกว้างแคบเป็นธรรมชาติที่น่าเที่ยวชมเป็นอย่างมาก บริเวณปากถ้ำมีเรือบริการนำเข้าชมภายในถ้ำตลอดเวลา

13.ถ้ำอิโส ตั้งอยู่หมู่ที่ 1 ตำบลลำภูรา อำเภอห้วยยอด มีถ้ำสวยงามตามธรรมชาติ และมีพระพุทธรูปบรรทมที่ผู้คนนับถือกันมากมีบันไดสูงขึ้นถึงยอดเขาได้ อยู่ห่างจากที่ว่าการอำเภอห้วยยอดไปทางอำเภอเมืองตรังประมาณ15 กิโลเมตร

14.หาดปากเมง เป็นหาดทรายยาวเหยียดเป็นรูปพระจันทร์ครึ่งเสี้ยวยาวประมาณ 5 กม. อยู่ริมฝั่งมหาสมุทรอินเดียมีป่าสนตามธรรมชาติขึ้นอยู่สวยงาม กลางทะเลมี เกาะน้อยใหญ่สลับซับซ้อนกัน มองดูลักษณะคล้ายคนนอนหงายอยู่ในทะเล อยู่หมู่ที่ 4 ตำบลไม้ฝาด อ.สิเกา ห่างจากตัวจังหวัดประมาณ 38 กิโลเมตร ถนนลาดยางจากจังหวัดไปถึงหาดประชาชนในจังหวัดและจากต่างจังหวัดไปพักผ่อน และลิ้มรสอาหารทะเลสด ๆ จากร้านอาหารที่ทางราชการจัดให้ราษฎรเช่าที่จำหน่ายอาหาร เพื่อรับโครงการส่งเสริมการท่องเที่ยวของจังหวัด มีสะพานเทียบเรือ มีเรือนำเที่ยวชมทะเลและเกาะต่าง ๆ ทุกวัน

15.หาดเจ้าไหม อยู่หมู่ที่ 3 ต.เกาะลิบง อ.กันตัง เป็นหาดทรายยาวประมาณ 5 กิโลเมตร จาก ต.เกาะลิบง อ.กันตังไปต่อกับหาดปากเมง อ.สิเกา ริมหาดมีต้นสนเรียงรายร่มรื่น บริเวณใกล้เคียงมีถ้ำโบราณ ในถ้ำมีโครงกระดูกมนุษย์สมัยดึกดำบรรพ์ มีขนาดใหญ่กว่าโครงกระดูกของมนุษย์ปัจจุบัน ทิวทัศน์สวยงามน่าเที่ยวชมเป็นอย่างมาก เหมาะสำหรับเป็นที่พักผ่อนหย่อนใจอยู่ห่างจากหาดปากเมงประมาณ 21 กม.

16.หาดหยงหลิง เป็นหาดทรายรูปโค้งขนานไปกับดงสน สุดชายหาดเป็นเขาสูงที่เต็มไปด้วยวุ้งเวิ้งและโพรงถ้ำซึ่งสามารถลอดออกไปสู่หน้าผาที่มีโพรงถ้ำและโขดหินตะปุ่มตะป่ำเหมือนป้อมปราการโอบล้อมลานทรายไว้ เป็นธรรมชาติสวยงาม เหมาะสำหรับเป็นที่พักผ่อนอยู่ทางไปหาดเจ้าไหมก่อนถึงหาดเจ้าไหมเล็กน้อย มีทางแยกเข้าหาดหยงหลิงประมาณ2 กม. มีประชาชนไปเที่ยวพักผ่อนกันมากมายทุกวัน

17.หาดสำราญ อยู่ตำบลหาดสำราญ กิ่งอำเภอหาดสำราญ ห่างจากตัวจังหวัด ประมาณ 59 กิโลเมตร ชายหาดมีต้นสนอยู่หนาแน่นและหาดทรายสะอาด มองเห็นเกาะในทะเลเป็นทิวทัศน์ที่น่าชม มีผู้ไปพักผ่อนในหน้าร้อนกันมาก

18.เกาะสุกร เป็นตำบลหนึ่งของอำเภอปะเหลียน เป็นเกาะนี้เป็นรูปเรียวยาวจากทิศตะวันออกไปยังทิศตะวันตกพื้นที่ทางทิศตะวันออกเป็นที่ราบ ตอนกลางเกาะเป็นภูเขาค่อนข้างสูง บนเกาะมีราษฎรอยู่กันหนาแน่น ริมทะเลมีหาดทรายกลางทะเลมีเกาะเล็กเกาะใหญ่เป็นทิวทัศน์สวยงามมาก เหมาะสำหรับเป็นที่ตากอากาศเป็นอย่างยิ่ง

19.เกาะลิบง อยู่ตำบลเกาะลิบง อำเภอกันตัง รอบ ๆ เกาะเต็มไปด้วยหญ้าทะเล ซึ่งเป็นอาหารของพะยูนสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมฝูงสุดท้ายของประเทศไทย บนเกาะมีฝูงกวาง ซึ่งได้รับการอนุรักษ์จากเจ้าหน้าที่เขตห้ามล่าสัตว์ป่าหมู่เกาะลิบงมีหมู่บ้านและสถานที่น่าท่องเที่ยวพักผ่อนอันสวยงามมาก

20.เกาะกระดาน เป็นเกาะที่เต็มไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติ โดยเฉพาะปะการังที่สวยงาม เป็นชายหาดที่มีทรายขาวสะอาดน้ำใส ทุกอย่างยังคงความเป็นธรรมชาติทุกประการ

21.ถ้ำมรกต อยู่บนเกาะมุก เขตอำเภอกันตัง เป็นเสมือนอัญมณีเม็ดงามแห่งท้องทะเลอันดามัน เพราะหน้าผาด้านตะวันตกยื่นลงไปในทะเล มีถ้ำอันแสนสวยงาม มีทางเข้าไปภายในถ้ำเป็นโพรงเล็ก ๆ พอลอดเรือเข้าไปได้ในช่วงน้ำลด แต่นักท่องเที่ยวสมัครใจลอยคอเข้าไปมากกว่า ความคดเคี้ยวและความมืดในโพรงถ้ำขณะลอยคอเข้าไป คือ นาทีแห่งความสนุกสนานระทึกใจ แต่ความตื่นตาตื่นใจจะเข้ามาแทนที่ เมื่อถึงปากถ้ำภายใน เพราะจะพบเห็นน้ำทะเลสีมรกต หาดทรายขาวสะอาดล้อมรอบด้วยหน้าผาสูงชันที่มีฟ้าสีครามเป็นหลังคาผนังแต่งแต้มด้วยลายเขียวของใบไม้เป็นความงามที่ได้รับการยกย่องว่าเข้าอันดับโลก

22.บ่อน้ำร้อน – ไอน้ำแร่ จากตัวอำเภอกันตังไปประมาณ 6 กม. จะพบบ่อ น้ำร้อนซึ่งกำลังได้รับการพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวอุณหภูมิของน้ำประมาณ 70 องศาเซลเซียส มีนักท่องเที่ยวเดินทางไปอาบน้ำแร่กันเป็นจำนวนมากทุกวัน

เทศกาลและงานประเพณี

1.งานพิธีวิวาห์ใต้สมุทร ได้รับการบันทึกเป็นสถิติโลกของ Guinness World Record จัดขึ้นเป็นประจำทุกปีในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ ณ เกาะกระดาน อำเภอกันตัง จังหวัดตรัง มีคู่บ่าวสาวจำนวนมาก จากประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก ร่วมขบวนแห่ขันหมากอันยิ่งใหญ่ไปยังสถานที่ถ่ายทำพิธีวิวาห์ จากนั้นคู่บ่าวสาวทุกคู่พร้อมทั้งเจ้าหน้าที่และแขกผู้มีเกียรติจะดำน้ำลงสู่ใต้ทะเลเพื่อทำพิธีรดน้ำสังข์ พิธีจดทะเบียนสมรสใต้ทะเล หลังจากนั้นจังหวัดจะจัดงานเลี้ยงแสดงความยินดีบริเวณชายทะเล พร้อมทั้งให้คู่บ่าวสาว ร่วมปลูกต้นไม้แห่งความรัก ณ สวนรวมพรรณไม้แห่งความรัก สวนพฤกษศาสตร์ภาคใต้ไว้เป็นที่ระลึกด้วย

2.งานเทศกาลขนมเค้ก จัดขึ้นในเดือนสิงหาคม เด็กเมืองตรังเป็นที่ขึ้นชื่อไป ทั่วประเทศว่า เป็นเค้กที่อร่อยมีหลายแบบหลายรสให้เลือกซื้อ เป็นของฝากจากเมืองตรัง

3.งานเทศกาลหมูย่าง จัดขึ้นในเดือนกันยายน หมูย่างสูตรเมืองตรัง หนังกรอบ เนื้อหอมนุ่ม รสอร่อย จากกรรมวิธีหมักใส่เครื่องปรุงแล้วย่างทั้งตัวด้วยเตาย่างที่จัดทำเป็นพิเศษ ใช้แกล้มกาแฟหรือขึ้นโต๊ะงานเลี้ยงต่าง ๆ

4.งานเทศกาลกินเจ จัดขึ้นเดือนตุลาคม เป็นประเพณีที่แปลกไม่เหมือนจังหวัดใดที่มีเทศกาลกินเจ มีการอัญเชิญองค์สิ่งศักดิ์สิทธิ์ประทับในร่างทรง ออกเยี่ยมเยียนโปรดสัตว์ ไปตามอาคารบ้านเรือนซึ่งจัดโต๊ะบูชาไว้ต้อนรับ พร้อมทั้งแสดงอิทธิฤทธิ์อภินิหาร ด้วยการใช้ศาสตราวุธทิ่มแทงตามร่างกาย ปืนป่ายบันไดมีด การลุยไฟ ลุยดงหนาม ฯลฯ โดยมิได้มีอาการเจ็บปวดหรืออันตรายแต่ประการใด

5.งานเทศกาลอนุรักษ์หอยตะเภา จัดขึ้นในเดือนพฤศจิกายน เพื่อให้ประชาชนมีความสำนึกในการร่วมกันอนุรักษ์หอยตะเภาที่มีมากที่ชายหาดปากเมง อำเภอสิเกา แต่กำลังจะสูญพันธุ์ไป

6.งานเฉลิมพระชนมพรรษาและงานกาชาดประจำปี จัดขึ้นระหว่าง วันที่ 5 – 15 ธันวาคมทุกปี รวบรวมวัฒนธรรมประเพณีของดีจากทุกอำเภอมาแสดง ประกวดแข่งขัน พร้อมทั้งการออกร้านจำหน่ายสินค้าของส่วนราชการและเอกชนในบริเวณงาน เป็นงานที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของจังหวัดตรังและของภาคใต้

11.เส้นทางคมนาคม

1.ทางบก

– ตรัง-กรุงเทพฯ ทางหลวงหมายเลข 4-403-41-4-35 ตามถนนเพชรเกษม ตรัง-ทุ่งสง-สุราษฎร์ธานี-ชุมพร-ประจวบฯ-เพชรบุรี-สมุทรสงคราม-กรุงเทพฯ

– ทางหลวงหมายเลข 404-416 ตรัง-ปะเหลียน-สตูล

– ทางหลวงหมายเลข 4-407 ตรัง-พัทลุง-หาดใหญ่

– ทางหลวงหมายเลข 4-402 ตรัง-กระบี่-พังงา-ภูเก็ต

2.ทางอากาศ

– เที่ยวบินตรง (ไป-กลับ) กรุงเทพฯ – ตรัง, ตรัง – กรุงเทพฯ ทุกวัน

3.ทางรถไฟ

– รถเร็ว กันตัง-ตรัง-กรุงเทพฯ ทุกวันทั้งไปและกลับ

– รถด่วน ตรัง-กรุงเทพฯ ทุกวันทั้งไปและกลับ

4.ทางน้ำ

– ท่าเทียบเรือกันตัง จัดเป็นท่าเทียบเรือสินค้า เรือท่องเที่ยว ทั้งภายในและ ต่างประเทศ

– ท่าเทียบเรือสิเกา (ปากเมง) มีเรือให้บริการด้านการท่องเที่ยว

วิทยาลัยการอาชีพปะเหลียน
สถานศึกษารางวัลพระราชทาน 3 ครั้ง ภายใน 10 ปี
ปีการศึกษา 2555, 2560, 2564 🏆🏆🏆